0

รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คืออะไร? มีกี่ประเภท? ตัดสินใจซื้อตอนนี้...ดีไหม? Newgarage (นิวการาจ)

           

รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คืออะไร? มีกี่ประเภท? ตัดสินใจซื้อตอนนี้...ดีไหม? Newgarage (นิวการาจ)

เทรนด์รถ EV กำลังมาแรงขนาดนี้... Newgarage (นิวการาจ) ขอแนะนำให้ รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คืออะไร? มีกี่ประเภท? ตัดสินใจซื้อตอนนี้...ดีไหม?

...

มาทำความรู้จัก รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี กัน...

 

รถ EV หรือ Electric Vehicle แปลตรงตัวได้ว่า รถไฟฟ้า คือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แทนการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) โดยกลไกการทำงานไม่ค่อยมีความซับซ้อน ต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมัน คือจะเก็บพลังงานเอาไว้ในแบตเตอรี่ และแปลงพลังงานจากแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อน ดังนั้น ความน่าสนใจของรถ EV ก็คือการใช้พลังงานสะอาด เครื่องยนต์เงียบ และไม่มีไอเสีย จึงตอบโจทย์ในการลดมลพิษได้ 100% 

 

Tips: เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) คือ เครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil) ในการเผาไหม้เพื่อจุดระเบิด เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันก๊าดในเครื่องยนต์บางประเภท และดันลูกสูบภายในกระบอกสูบให้เคลื่อนที่ขึ้น-ลง เพื่อไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยงที่ต่อกับเกียร์ผ่านเพลาหรือโซ่ แล้วส่งกำลังขับเคลื่อนไปยังล้อ ทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ไปข้างหน้า

 

องค์ประกอบหลักในการทำงานของรถ EV จะมีเพียงแบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า เท่านั้น รายละเอียดดังนี้

 

1.) แบตเตอรี่รถ EV : มีหลายประเภท โดยที่นิยมในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นแบบลิเธียมไอออน เนื่องจากใช้งานได้นานและมีความทนทานสูง

นอกจากนั้น ยังมีทั้งแบบชาร์จไฟได้ (ไฟบ้าน 220V, สถานีชาร์จ) และแบบชาร์จไฟไม่ได้

 

2.) อุปกรณ์แปลงไฟฟ้า : มีหน้าที่ควบคุมและแปลงกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรงจากแบตเตอรี่ให้เป็นกระแสสลับที่พร้อมใช้งาน

จากนั้นพลังงานส่วนนี้จะถูกส่งต่อไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า

 

3.) มอเตอร์ไฟฟ้า : ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องปั่นไฟ คอยส่งกระแสไฟฟ้าที่แปลงเรียบร้อยแล้ว ไปยังระบบขับเคลื่อนหรือเพลา

 

 

รถยนต์ไฟฟ้า แบ่งออกเป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง?  

ในปัจจุบันรถยนต์ EV สามารถแบ่งตามเทคโนโลยี ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

1. รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV)

เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ โดยรถยนต์ประเภทนี้จะมีอัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่าแบบใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว และสามารถนำพลังงานกลส่วนที่เหลือ/ไม่ใช้ประโยชน์ เปลี่ยนกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่อีกที เช่น ขณะที่เราเหยียบเบรก พลังงานบางส่วนจะถูกชาร์จเข้าแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าจะดึงมาใช้สลับกับตอนเครื่องยนต์ทำงาน เป็นต้น แต่ข้อเสียของ รถไฟฟ้าไฮบริด (HEV) คือไม่มีช่องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟจากภายนอก

 

2. รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV)

รถยนต์ประเภทนี้มีระบบน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบไฟฟ้า โดยถูกพัฒนาต่อยอกมาจาก HEV โดยเครื่องยนต์จะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าและมีแบตเตอรี่ไว้เก็บพลังงาน แต่จุดที่ต่างกันคือ PHEV ออกแบบมาให้เสียบปลั๊กชาร์จไฟจากภายนอกได้ หรือระบบ Plug-in ทำให้รถสามารถวิ่งไปได้ระยะทางมากกว่าระบบไฮบริดเดิม นอกจากนั้น แบตเตอรี่ยังสามารถชาร์จไฟเพิ่มเติมได้ตามต้องการ เมื่อแบตเตอรี่หมดรถจะทำงานคล้ายกับระบบไฮบริด (HEV) ต่อไป

 

3. รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวในการขับเคลื่อน (Plug-in Electric Vehicles : PEVs)

รถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว คล้ายกับ PHEV แต่แบตเตอรี่จะมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อแบตเตอรี่หมดต้องเสียบชาร์จใหม่เท่านั้น จุดเด่นคือตอบโจทย์เรื่องการลดมลพิษ (Zero Emission) แต่ข้อเสียคือวิ่งได้ระยะทางค่อนข้างจำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ การใช้งาน สภาพถนน และสภาพจราจร เป็นต้น โดยสามารถแยกย่อยตามการใช้งานได้เป็น 3 แบบ ดังนี้

 

3.1)  รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้วิ่งในระยะสั้น หรือระยะทางใกล้ ๆ มีช่วงการขับขี่ต่ำ ทำงานที่ความเร็วต่ำ เช่น GEM Electric Motorcar

3.2) รถยนต์ไฟฟ้าประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) คือใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% จึงต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เพื่อให้วิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

3.3) รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle – FCEV) เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งเป็นการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็นความร้อนแล้วเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ดังนั้น FCEV จึงถือเป็นพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยมลพิษ, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าแบบ FCEV อยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มต่อเนื่อง คาดว่าออกสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้

 

 

ซื้อรถ EV หรือ รถใช้น้ำมัน เลือกแบบไหนดี?

1. ชิ้นส่วนที่ต้องบำรุงรักษาของรถยนต์ไฟฟ้า EV มีน้อยกว่า แต่ค่าใช้จ่ายอาจแพงกว่า

รถยนต์ไฟฟ้า EV มีชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ น้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป เช่น ไม่มีระบบเครื่องยนต์/ชุดเกียร์ โดยส่วนที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนก็ใช้เพียงแค่แบตเตอร์รี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ทำให้การดูแล ซ่อมแซม ไม่สร้างภาระหนักหรือจุกจิกเท่ารถยนต์แบบเดิม ไม่ว่าจะน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเกียร์ก็ไม่ต้องมาคอยเปลี่ยน แถมการทำงานยังไม่ซับซ้อน ซ่อมง่าย ใช้เวลาไม่นาน แต่อย่างไรดี จุดที่ต้องระวังคือแบตเตอรี่ หากเสื่อมสภาพหรือเกิดการชำรุดเสียหาย แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยน/ซ่อม อาจแพงพอ ๆ ที่จะซื้อรถใหม่ได้ครึ่งคันเลยทีเดียว

2. ประสบการณ์การขับขี่ที่ง่ายกว่า

หลายคนที่เคยขับรถ EV ต่างบอกว่าสมรรถนะอัตราเร่งดี แทบไม่ต่างจากรถที่ใช้น้ำมัน สามารถควบคุมอัตราการเร่งได้ตามที่ต้องการ ด้วยกลไกที่น้อยลง การขับขี่จึงง่ายมากขึ้นและไม่มีเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ดังรบกวน ยิ่งถ้าเป็น รุ่นที่มีระบบ Hydrolock จะสามารถขับลุยน้ำได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ดีก่อนตัดสินใจ ควรศึกษาคู่มือรถ ข้อควรระวัง สอบถามกับผู้ขายให้ชัดเจน 

3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวมากกว่า

นอกจากข้อดีเรื่องชิ้นส่วนน้อย การดูแลซ่อมแซมไม่จุกจิก และการขับที่ไหลลื่นแล้ว การเลือกใช้รถ EV อาจช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ด้วย เพราะเปลี่ยนจากการจ่ายค่าน้ำมันมาจ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่ง ณ ปัจจุบันถือว่าถูกกว่าหลายเท่า ขณะที่ราคาน้ำมันดูไม่มีวี่แววว่าจะลดลง

ทั้งนี้ มีผู้ใช้งานรถยนต์ EV เคยออกมาเปิดเผยว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้หลายพันบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายบำรุงรักษามีแนวโน้มถูกลงตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV ขณะเดียวกัน ด้วยนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ/เปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือการติดตั้งที่ชาร์จในบ้าน ก็ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาชีวิตมากขึ้น 

4. ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า

การใช้รถ EV ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ด้วยกลไกการทำงาน ชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า มีน้อยกว่ารถยนต์สันดาปภายในเยอะมาก หัวใจหลักๆ ก็คือแบตเตอรี่ เพราะมีผลต่อการใช้งานและการดูแลรักษา ที่สำคัญคือไม่มีการปล่อยมลพิษทางไอเสีย นอกจากนั้น หลายประเทศทั่วโลกต่างมีนโยบายออกมารองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV กันมากขึ้น เพื่อมุ่งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน รวมถึงไทยเองก็มีนโยบายลดภาษีสรรพสามิต ส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ผลิต ฯลฯ ส่วนผู้ใช้รถ...ถึงเวลาที่เราต้องจริงจังในการช่วยกัน “รักษ์โลก” และ “ดูแลสิ่งแวดล้อม” กันมากขึ้น