นิวการาจ จับมือภาครัฐ เอกชน ประชุมเตรียมจัดสัมมนา "ยกระดับการทำงานคนไทยในอุตสาหกรรม EV"

           

นิวการาจ จับมือภาครัฐ เอกชน ประชุมเตรียมจัดสัมมนา "ยกระดับการทำงานคนไทยในอุตสาหกรรม EV"

เชิญชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มี.ค.นี้ ที่อาคารรัฐสภา

...

นิวการาจ จับมือภาครัฐ เอกชน
ร่วมจัดโครงการสัมมนา
"ยกระดับการทำงานคนไทย
ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า"

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 คณะผู้จัดงานสัมมนา ยกระดับการทำงานของคนไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า : การเปลี่ยนผ่านที่กระทบกับคนไทยทั้งประเทศ นำโดยตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมรถบรรทุกไฟฟ้า กลุ่มติดตั้งแก๊สรถยนต์ กลุ่มตรวจสอบมาตรฐานรถยนต์ และผู้แทนด้านแรงงาน เข้าพบ ท่านสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับรูปแบบและรายละเอียดต่าง ๆ ในการสัมมมนา

สำหรับ การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกที่จัดขึ้นโดยรัฐสภา และได้มีการเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน, องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่, ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการ, บริษัทเอสเอ็มอี และตัวแทนกลุ่มแรงงาน

มาร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทาง ผลกระทบ และการปรับตัวของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเตรียมตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงในยุคของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในปัจจุบัน โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านทุกช่องทางของ Newgarage (นิวกราจ)

ทั้งนี้ จากปัญหามลภาวะและโลกร้อนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหฝุ่น PM2.5 ที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของท่อไอเสียรถยนต์ ส่งผลกระทบบั่นทอนสุขภาพคนไทยในระยะยาว และทำให้แนวโน้มการเลือกใช้ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ หรือ ‘EV’ ได้รับความสนใจมากขึ้น    

โดยข้อมูลจาก International Energy Agency ประมาณการว่าในปี 2573 ทั่วโลกจะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนมากถึง 145 ล้านคัน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ออกนโยบายเตรียมยกเลิกการขายรถยนต์น้ำมันภายในปี 2578 พร้อมกับส่งเสริมการผลิตและการใช้งาน EV ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น ลดอัตราภาษีสรรพสามิต ยกเว้นหรือลดอัตราอากรนำเข้าสำหรับชิ้นส่วนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก  

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนี้ อาจเป็นทั้งโอกาสและวิกฤติที่ส่งผลกระทบกับแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะแรงงานในบริษัทผู้ผลิตส่วนรถยนต์สันดาปราว 326,400 คน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง หากไม่สามารถปรับตัวหรือขาดการส่งเสริมเพื่อยกระดับทักษะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้