วันที่ 22 มีนาคม 2567 คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดงานสัมมนา “การยกระดับการทำงานของคนไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่อาคารรัฐสภา โดยได้รับเกียติจาก ดร.พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิด และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน
ที่สำคัญงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการสัมมนาและกล่าวถึงแนวทางนโยบายของภาครัฐที่พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้านยานยนต์ ซึ่งมีโอกาสตกงานกว่า 2-3 แสนคน ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการฝึกอบรมทักษะช่างและบุคลากร
"กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานฝีมือ เพื่อรองรับและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตามนโยบายรัฐบาล และมาตรการส่งเสริมการลงทุน การสนับสนุนนโยบายด้านการลงทุนของประเทศไทย ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ทั้งในส่วนการผลิตและประกอบยานยนต์ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และอะไหล่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในปี 2568 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายพัฒนาแรงงานฝีมือ จำนวน 10,097,015 คน การพัฒนาแรงงานนวัตกรรมเพื่อรองรับการลงทุน จำนวน 100,000 คน การเร่งติดอาวุธและพัฒนาคุณภาพแรงงาน ตั้งแต่วัยเรียนเพื่อลดการขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น 1,000,000 คน
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คือ จำนวนแรงงานฝีมือ ที่มีความรู้ความเข้าใจในงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาแรงงาน ทำให้การฝึกอบรมเพื่อผลิตกำลังคนในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม กำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม หรือ VIN FAST พร้อมกับการพัฒนาแรงงานฝีมือที่จะเข้ามาตอบโจทย์ ทั้งในส่วนชองช่างเทคนิค (Technician), วิศวกรยานยนต์, วิศวกรไฟฟ้า, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ส่วนแนวทางการพัฒานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นต้องผันตัวจาก "ผู้รับจ้างผลิต" มาเป็น "ประเทศผู้ผลิต" ให้ได้ ซึ่งจะนำมาสู่โอกาสเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ควบคุมกับการเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งในระดับผู้ปฏิบัติการ ช่างเทคนิค วิศวกรยานยนต์ วิศวกรไฟฟ้า นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ช่างซ่อมบำรุง เป็นต้น และขณะเดียวกัน ภาครัฐก็จำเป็นต้องสร้างนโยบายที่สามารถจูงใจผู้ประกอบการ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน/อะไหล่ ชั้นนำระดับโลกในประเทศไทย ให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น พร้อมกำหนดข้อตกลงในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการวิจัย พัฒนา รวมถึงการผลิตและประกอบยานยนต์ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และ อะไหล่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย..." นายพิพัฒน์ กล่าว
การสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ อัพเดทสถานการณ์ตลาดและความต้องการใช้รถ EV ที่สำคัญคือผลกระทบที่จะเกิดกับทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และแรงงานด้านยานยนต์ โดยสะท้อนผ่านมุมมองของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน อาทิ
🚗 นางสาวพธู ทองจุล ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
🚗 นายปรเมษฐ์ ห้อยสังวาลย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
🚗 นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี)
🚗 นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ กรรมการบริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ตัวแทนจากค่ายรถยนต์
🚗 นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)
🚗 นายปิยรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า
นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก อาทิ
🔹คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร
🔹กรมการขนส่งทางบก
🔹สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
🔹กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
🔹สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
🔹การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
🔹การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
🔹กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
🔹กรมการจัดหางาน
🔹สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
🔹กรมสรรพสามิต
🔹สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
🔹สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
🔹สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
🔹สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
🔹สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าตัดแปลงและพลังงานทางเลือกไทย
🔹บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
🔹สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
🔹สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย
🔹ตัวแทนผู้ผลิตและค่ายรถยนต์ อาทิ BMW, MERCEDES BENZ, MINI, MG, AION, HYUNDAI, CHANGAN, MGC-ASIA, KIA, BYD, GWM, NETA
🔹ตัวแทนจากสหภาพแรงงานยานยนต์ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฟอร์ด-มาสด้า HINO ฯลฯ
🔹ผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
🔹ผู้ประกอบการด้านขนส่งโลจิสติกส์ รถบรรทุกเชิงพาณิชย์
🔹ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์
🔹สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
🔹คณะอาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
ด้านนายพัฒน์สวัสดิ์เวศย์ เติมพิทยาเวช ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Newgarage (นิวการาจ) และประธานกรรมการ บริษัท หงษ์ทองกรุ๊ป จำกัด (HTG) แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ “อู่ยุคใหม่” เสนอแนวทางการยกระดับช่างและบุคคลากรสายงานยานยนต์ ผ่านโครงการฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะความรู้เกี่ยวกับ EV สู่ช่าง บุคคลากร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้ งานสัมมนาการยกระดับการทำงานของคนไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ ถืออีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ช่วยสร้างความตื่นตัวต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “แรงงานไทย” ที่ต้องเตรียมพร้อมและเร่งปรับตัว ยกระดับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดไปสู่เรื่องของการกำหนดมาตรฐาน, ระเบียบข้อบังคับ, มาตรการส่งเสริมและกำกับดูแล, การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี, ทักษะจำเป็นเกี่ยวกับ EV, การซ่อมบำรุง ฯลฯ ในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญที่จะให้บรรลุเป้าหมาย คงต้องอาศัยการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน, ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตลอดจนระดับราคารถ EV, ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกับการตัดสินใจของทั้งฝั่งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้รถ EV ในไทย